Hot Topic!
คุม 'มลพิษอุตสาหกรรม' เหลว กฎหมายมีช่องโหว่เอื้อเศรษฐกิจ
โดย ACT โพสเมื่อ Jun 08,2019
- - ขอบคุณข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ - -
5 ปีที่ผ่านมาการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย กำลังเผชิญกับการออกกฎหมายที่เอื้อต่อการลงทุนที่เป็นประโยชน์ต่อด้านเศรษฐกิจ อาทิ พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ.2562 ที่กำลังจะมีผล อย่างเป็นทางการในเดือน ต.ค.นี้ เรื่องนี้ ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายแต่การยกเว้นไม่ดูแลเรื่องการจัดตั้งโรงงานโดยไม่ควบคุมดูแลสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการละเลยในการควบคุมมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลให้ขณะนี้สภาวะสิ่งแวดล้อมแย่ลง คุณภาพชีวิตคนถดถอย
กรุงเทพธุรกิจ - สถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทิศทางการพัฒนาที่ผ่านมามุ่งเน้นอุตสาหกรรมโดยไม่ได้มองถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ขณะนี้ภูมิทัศน์ของประเทศไทยหลังการเลือกตั้งมีรัฐบาลใหม่ เรียกร้องให้พิจารณาโจทย์ปัญหาสิ่งแวดล้อม
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ วิเคราะห์ถึงปัญหาการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและการควบคุมมลพิษโรงงานภายใต้กฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบันว่า ประเทศไทยมีกรอบกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งเป็นเวลากว่า 20 ปี แต่ปัญหามลพิษกลับไม่ลดลง นอกจากนั้นประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มของประเทศที่มีกฎหมายจำกัดการรับทุนจากต่างประเทศ และการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชน อีกทั้งมีนักสิ่งแวดล้อมที่ถูกสังหารจากการทำงานเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระหว่างปี 2543-2558 จำนวน 22 ราย สูงเป็นอันดับ 8 ของโลก และประเทศไทยต้องใช้ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลถึงจะได้ข้อมูลเกี่ยวกับมลพิษอุตสาหกรรม
"โรงงานจำนวนมากทั่วประเทศ ภาคประชาสังคม หน่วยงานด้านสุขภาพ หรือหน่วยงานสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถตรวจสอบโรงงานเหล่านั้นได้ ทั้งที่โรงงานเหล่านั้น มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นเรื่องยากมากที่หน่วยงานภาครัฐจะลงโทษโรงงาน หรือผู้ก่อมลพิษที่สร้างความเสียหาย และกฎหมายมีช่องโหว่มาก เช่น โรงงานกิจกรรมคัดแยกขยะและฝังกลบ (ที่ไม่เป็นของเสียอันตราย) ไม่มีมาตรการการศึกษาใดๆ เราจะไม่รู้ว่าโรงงานเหล่านี้ก่อผลกระทบต่ออะไรมาก ซึ่งจากการศึกษาของเราพบว่าโรงงาน เหล่านี้มีการส่งผลกระทบต่อพื้นใต้ดิน แหล่งน้ำ ใต้ดินมาก เพราะมีการปนเปื้อนของเสียเข้าไป เนื่องจากไม่แน่ชัดว่าของเสียอันตรายมีอะไรบ้าง" เพ็ญโฉม กล่าว
พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2562 ทำให้โรงงาน ที่มีความเข้มงวดจากกฎหมายเดิม อาทิ มากกว่า 50 แรงม้า ต้องยื่นเอกสารขออนุญาต แต่กฎหมายใหม่ไม่ต้องยื่นขออนุญาตกระทรวงอุตสาหกรรมกำลังผลักภาระ ให้องค์กรปกครองส่วนท้อนถิ่น (อปท.) แต่ไม่ได้หนุนเสริมให้ อปท.มีความรู้ในเรื่องนี้ และไทยเป็นประเทศเดียวที่แบ่งจำนวนโรงงานโดยใช้กำลังแรงม้า ขณะที่ประเทศ อื่นๆ กำหนดประเภทกิจการที่จะต้องควบคุมและอนุญาตด้วยปริมาณและประเภทของเสียที่ปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม
ในการแก้ปัญหาต้องเริ่มจากการบำบัดมลพิษที่ปลายท่อก่อนปล่อยทิ้ง มาตรการประเมินและผลกระทบ ต้องมีการประเมินรายโครงการ ปฏิรูประบบการประเมินผล กระทบทั้งระบบและการมีส่วนของประชาชน ซึ่งขณะนี้ประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง ไม่มีการให้ข้อมูลแก่ประชาชนเพื่อประกอบการให้ความเห็น และควรมีการพัฒนากฎหมาย PRTR (Pollutant Release and Transfer Registers) หรือกฎหมายกำหนดให้มีการรายงานชนิดและปริมาณของมลพิษที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม รวมถึงควรปรับปรุงการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชน การแก้ปัญหาทุจริตและการมีส่วนได้ส่วนเสียของข้าราชการที่เกี่ยวข้อง การปรับปรุงบทลงโทษสำหรับผู้กระทำผิด และการพิจารณานำแนวทางเศรษฐศาสตร์และมาตรการทางภาษีมาใช้ควบคุมสิ่งแวดล้อม และแก้ไขพัฒนากฎหมายให้ทันสมัย
นิชา รักพานิชมณี นักศึกษานิติศาสตรบัณฑิตและมหาบัณฑิตด้านกฎหมายและนโยบายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัย Vermony Law School สหรัฐ กล่าวว่า จากการศึกษากลไกสำคัญทางกฎหมายเพื่อควบคุมและป้องกันมลพิษอุตสาหกรรมในต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น มีมาตรการควบคุมมลพิษโดยหน่วยงานอิสระและมีอำนาจตรวจสอบและลงโทษ ไม่ได้เป็นหน่วยงานส่งเสริมอุตสาหกรรมโดยตรง แตกต่างจากไทยที่เป็นหน่วยงานเดียวกัน
ข้อมูลข่าวสารราชการที่ประชาชนยื่นคำขอ หน่วยงานรัฐต้องตอบคำขอภายใน 30 วัน และต้องเปิดเผยข้อมูลหากข้อมูลนั้นจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ แตกต่างจากไทยที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลและการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน กำหนดโดยปริมาณน้ำเสียและอากาศเสียที่โรงงานคาดว่าจะปลดปล่อย และจะมีการปรับหากปล่อยน้ำเสีย อากาศเสียเกินค่ามาตรฐาน ปิดปรับปรุงโรงงานชั่วคราวและโทษจำคุก นอกจากนั้นมีมาตรการทางผังเมือง มาตรการทางภาษีเพื่อลดมลพิษ
จีนมีหน่วยงานอิสระและมีอำนาจตรวจสอบและลงโทษแหล่งกำเนิดมลพิษ เปิดเผยรายชื่อกิจการที่ปล่อยสารมลพิษหลัก มีบทลงโทษข้าราชการในพื้นที่ถ้าไม่บรรลุเป้าหมาย ทางสิ่งแวดล้อม ส่วนฮ่องกง ประกอบกิจการโรงงานโดยไม่มีใบอนุญาต ลอบทิ้งของเสียอุตสาหกรรม มีโทษ ทั้งจำทั้งปรับ ส่วนสหรัฐมีการเปิดเผย สาธารณะรายงานปริมาณการปลดปล่อยสารมลพิษ และเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการขอใบอนุญาต หน่วยงาน รัฐต้องตอบคำขอใน 20 วัน
"จะเห็นได้ว่าหลายประเทศให้ความสำคัญในการแก้ปัญหา สิ่งแวดล้อม มีการเปิดเผยข้อมูล การขอ ใบอนุญาตไม่ใช่เรื่องง่าย มีบทลงโทษที่ชัดเจน แต่เมื่อมาดูกฎหมายของไทย กลับแตกต่าง จึงอยากฝากภาครัฐว่าชีวิตของคนเรามีค่าเท่ากัน อย่ามองเพียงคนกลุ่มนี้ และกฎหมายที่ออกมาใหม่ควรเป็นไปเพื่อประชาชนทุกคน และร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อม" นิชา กล่าว
อาภา หวังเกียรติ อาจารย์วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า 5 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมรวดเร็วมาก แต่การช่วยเหลือชาวบ้านกลับช้า ซึ่งควรมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโรงงาน เช่น โรงงานมีขยะอันตรายจะไปทำการบำบัดอย่างไร เปิดเผยข้อมูลปล่อยสารก่อมะเร็ง สารที่ทำให้เด็กแท้งลูก สารที่มีผลกระทบต่อทางเดินหายใจ ซึ่งกฎหมายไทยไม่มีการรายงานเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลลักษณะนี้ จะทำให้การไปลักลอบทิ้งน้อยลง และทำให้รู้ว่าโรงงานมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากน้อยอย่างไร ประชาชนที่อยู่บริเวณโรงงานจะได้รู้ว่าครอบครัวมีความเสี่ยงอะไรบ้าง ดังนั้น อยากให้มีการกำหนดกฎหมายใหม่ที่จะเป็นคานงัดและแก้ปัญหา สิ่งแวดล้อม และต้องมีการเคลื่อนไหว พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2562 เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน